วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ความเห็นหลังจากประกอบเครื่องรับวิทยุ 144 MHz เสร็จ

สวัสดีครับ เพื่อนสมาชิกที่ติดตามอ่านเว็บบล็อกของผม เว็บบล็อกของผมเริ่มต้นเขียนตั้งแต่ปี 2008 ด้วยแนวคิดอยากลองเขียนอะไรเล่น ๆ มาถึงตอนนี้ 4 ปีแล้วมีจำนวนผู้อ่านหรือไม่ก็เปิดมาเจอมากพอสมควร






ในช่วงปี 2008 นั้นผมจะเน้นไปทางการออกอากาศ การแข่งขัน และพยายามฝึกรหัสมอร์ส ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนนี้ก็เร็วสมใจแล้ว และได้ออกอากาศ ได้แข่งขัน ได้รางวัลมาบ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ดี ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยตื่นเต้นกับการออกอากาศเท่าไร ติดต่อได้ก็ดี ติดต่อไม่ได้ก็เฉย ๆ ผมเลยกลับไปมองพื้นฐานเดิมของผม คือสนใจวิทยุสมัครเล่นก็เพราะมีอะไรให้ทดลอง โดยเฉพาะ เครื่องรับส่ง และอุปกรณ์ สำหรับตอนนี้ก็หันมาทดลองวงจรต่าง ๆ เกี่ยวกับวิทยุรับส่งที่พอทำได้ หลังจากประกอบมาหลายวงจรก็พบความจริงอย่างยิ่งว่า เครื่องที่เราทำเองราคาหลักร้อย ให้ความรู้มากกว่าเครื่องที่ซื้อมาหลักหมื่นหลักแสน พวกวงจรต่าง ๆ ถึงเรียนมาก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจ เหมือนนั่งทดลอง นั่งลองผิดลองถูก บางโครงงานอาจจะใช้เวลานาน บางโครงงานอาจจะไม่สำเร็จ

สำหรับโครงงานที่จะเอามาประกอบบทความนี้ก็คือ การประกอบเครื่องรับวิทยุ 144 MHz การทำเครื่องรับเป็นความฝันแรก ๆ ที่ผมอยากได้ตอนสอบผ่านนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น แต่ยังไม่มีเครื่อง อยากรับฟัง แต่ตอนนั้นไม่สามารถทำเครื่องรับแบบใช้ IC อย่างในรูปได้ ได้แค่ดัดแปลงวิทยุ FM ให้มารับย่าน 144 MHz รับได้ดีครับ แต่ความไวยังไม่มากพอ สามารถรับได้เฉพาะในพื้นที่อำเภอเดียวกันเท่านั้น แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้รับฝังนักวิทยุสมัยนั้นคุยกัน อย่างหนึ่งที่เจอแทบทุกครั้ง คือการคุยแบบสุภาพ นิ่มนวล น่าฟังถึงแม้จะไม่ได้คุยเรื่องที่มีสาระวิชาการอะไรก็ตาม แต่ตอนนี้ผมสามารถประกอบเครื่องรับแบบ IC ดังรูปตัวอย่างได้แล้ว ความตื่นเต้นในการประกอบวงจรยังมีอยู่ แต่ความสุภาพของเสียงในวิทยุนั้นหายไปแล้ว มีการพูดเล่น หรือพูดกันแบบคนสนิทกันจนเกินไป โดยไม่คิดเลยว่า จะมีใครฟังอยู่บ้าง

จริง ๆ แล้วผมไม่ฟัง 144 MHz หรือ 2 Meter นานแล้วละ พอทำเครื่องรับก็เลยต้องฟัง พอฟังแล้วก็ต้องคิดตามบ้างละครับ ผมเจอแนวคิดที่ไม่ค่อยจะถูกนักเกี่ยวกับนักวิทยุสมัครเล่น เช่น


  • แนวคิดที่ว่า การเป็นนักวิทยุสมัครเล่นที่ดี ต้องคุย หรือเปิดเครื่องเฝ้าฟังตลอด ใครเรียกมาจะได้ตอบ ได้คุยทันที อันนี้เป็นการใช้งานเครื่องวิทยุเฉย ๆ ไม่ใช่สาระอะไรของวิทยุสมัครเล่นอย่างที่ควรจะเป็น 
  • แนวคิดที่ชอบมองว่าเจ้าของสถานีวิทยุสมัครเล่นที่มีราคาแพง เป็นคนเก่ง เป็นคนมีความรู้ ทำให้ทุกคนอยากจะเอาอย่าง ได้แต่ซื้อกับซื้อ มันกลายเป็นธุรกิจไปหมด จริง ๆ แล้วสถานีใหญ่หรือเล็กไม่ใช่สำคัญอะไร มันอยู่ที่ว่า มีชิ้นไหนบ้างในสถานี ที่เราได้สร้างมันขึ้นมาเอง 
  • แนวคิดที่ว่า รีพิตเตอร์จะต้องมีคนใช้งานตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เงียบเหงา และเป็นการเตรียมความพร้อม จริง ๆ การพูดคุยแบบนี้ไม่ได้มีสาระอะไร ยิ่งพูดมากไป ยิ่งมีแต่น้ำ แซวกันไป แซวกันมา เดียวก็มีปัญหาทะเลาะกัน ไม่จบสิ้น
สิ่งที่น่าจะเป็น ในแต่ละจังหวัด มีนักวิทยุสมัครเล่นอยู่จำนวนมาก และผมคิดว่าทุกจังหวัดต้องมีนักวิทยุสมัครเล่นที่มีแนวคิดดี ๆ ในเรื่องการทดลอง ดังตัวอย่างการสร้างเครื่องรับ ให้ผู้ที่กำลังสนใจมาลองสร้างเครื่องรับ 144 MHz ส่วนคนที่เป็นนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นแล้วก็สร้างเครื่องรับวิทยุย่าน HF ต่อไป น่าจะมีการรวมกลุ่มกันทดลอง เขียนผลการทดลองเผยแพร่ตามเว็บไซต์บ้าง ก็คงเป็นการดี นักวิทยุสมัครเล่นรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาจะได้เอาเป็นแนวทางต่อไป พูดถึงเรื่องเว็บไซต์ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยุสมัครเล่นแล้วก็อดไม่ได้ครับ เว็บไซต์ของนักวิทยุที่เป็นกลุ่ม หรือสมาคม ก็จะมีแต่ข่าว มีแต่ภาพกิจกรรม ไม่มีสาระความรู้ที่เป็นเรื่องเป็นราว ถ้ามีก็มักจะคัดลอกมาจากเว็บอื่น ตอนคัดลอกมาก็ไม่ได้ตรวจสอบหรอกว่าข้อมูลถูกต้องหรือเปล่า แต่ด้วยความเป็นกลุ่ม เป็นสมาคม นักวิทยุสมัครเล่นจึงให้ความเชื่อถือ คราวนี้ละครับ มั่วไปหมดทั้งวงการ ผมก็เขียนได้เท่านี้ละครับ ขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่อ่านจนจบ 

ประกอบเครื่องรับ 144 MHz ลงกล่อง

ประกอบเครื่องรับลงกล่องครับ ไม่มีอะไรมากนอกจากเอาภาพมาโชว์









วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทดลอง Squelch control ใช้ ไอซี CD4066

ใช้ไอซีเบอร์ CD4066 มาเป็นตัวควบคุม Squelch และ หลอด LED แสดงสถานะ Busy 





ทดลองเครื่องส่ง CB 27MHz ช่อง 17

ทดลองสร้างเครื่องส่ง 27 MHz เพื่อเป็นพื้นฐานการทดลอง เครื่องรับ - ส่งต่อไปครับ ที่เลือกใช้ความถี่ 27 MHz เพราะว่า มีแร่ Crytal อยู่แล้ว และความถี่ต่ำสร้างง่ายกว่าความถี่สูง


เครื่องรับ 144MHz MC3362

ทดลองสร้างเครื่องรับวิทยุสมัครเล่น ความถี่ 144 -146 MHz โดยใช้ IC MC3362 โครงงานนี้ผมตั้งใจจะทำมานานแล้ว ตังแต่เริ่มสอบเป็นนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นใหม่ ๆ อยากสร้างไว้รับฟังการติดต่อของนักวิทยุสมัครเล่น เพราะสมัยก่อนเครื่องรับส่งมีราคาแพงมาก



วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทดลองเครื่องส่ง QRP 144MHz ระบบ FM

ทดลองเครื่องส่ง QRP 144 MHz สร้างโดย HS8JYX กำลังส่งในวีดีโอ 0.05 วัตต์ (50mW) ส่งออกอากาศในระบบ FM ทดลองเสียงพูดแล้วใช้ได้ดีมาก แต่ไม่รู้จะคุยอะไรเวลาบันทึกวีดีโอ จึงส่งเป็นภาพ SSTV แทน รับสัญญาณโดย HS8FLU ซึ่งห่างกัน 15 กิโลเมตร ใช้สายอากาศรอบตัว รายละเอียดเครื่องส่ง ทำจากแร่ Crystal 27 MHz ใช้ Harmonic ที่ 5 ของแร่หรือ 135 MHz บวกกับวงจรผลิตความถี่แบบ VFO อีกชุด ผลิตความถี่ 9-10 MHz มารวมกันได้ระหว่าง 144-145 MHz พอดี







 เริ่มด้วยการผลิตความถี่พื้นฐาน 27 MHz ถ้าถามว่าทำไม ต้อง 27 MHz ขอตอบว่า บังเอิญมีแร่ 27 MHz อยู่พอดี และมันก็หาได้ไม่ยาก ถ้ามีเครื่องเล่น VCD หรือเครื่องรับทีวีดาวเทียม เก่า ๆที่ใช้การไม่ได้แล้วก็สามารถถอดออดมาทำวงจรเครื่องส่งได้เลย ถ้าถามว่าแล้วแร่ความถี่อื่นละ ก็ขอตอบว่าได้ครับ ทำได้หลากหลาย เน้นของที่เรามีจะดีที่สุด โครงงานของเราจะได้ดำเนิดต่อไป


รูปนี้เป็นการนำความถี่ 135 MHz มาผสมกับ 9-10 MHz ด้วย NE602










รูปนี้ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ไม่ค์ใช้ Condenser Mic ราคาถูก PTT ใช้ Switch กดติดปล่อยดับ ซึ่งมีหลายแบบ แล้วแต่ละเลือกมาใช้งาน

เสร็จสิ้นการประกอบและปรับแต่ง ขั้วต่อไฟบวก ลบ สายอากาศ และต่อไปยังเครื่องรับ

ไว้ถ้ามีเพื่อนสมาชิกมาโพสคำถามไว้ผมจะอธิบายเพิ่มเติมนะครับ 

จากการทดลองใช้งานในระยะ 15 กิโลเมตรก็พบว่าสามารถติดต่อกันได้ (ใช้สายอากาศรอบตัวติดหลังคาบ้านทั้งสองผ่าย) นักวิทยุสมัครเล่นของเราที่เริ่มเข้ามาสู่วงการก็น่าจะเริ่มจากเรื่องแบบนี้ ประกอบเครื่องรับส่งใช้เอง ทำสายอากาศใช้เอง มันจะได้ความรู้มากกว่าการเข้ามาแล้วไปในแนวทางอื่น และเมื่อประกอบไปสักพัก จะมีแนวคิดในการดัดแปลง จับวงจรโน้น วงจรนี้มาเสริม ทำให้วงจรของเราดีขึ้น เป็นการต่อยอดไปได้อีกระดับครับ

ทดลองรับสัญญาณจากเครื่องส่ง CW 144 MHz QRP ของ HS8FLU

ทดลองรับสัญญาณจากเครื่องส่ง CW 144 MHz QRP ของ HS8FLU รายละเอียดเครื่องส่ง ใช้แร่ 48 MHz เป็นความถี่พื้นฐาน แล้วใช้ Harmonic ที่ 3 ที่ 144 MHz มาเป็นความถี่ใช้งาน ขยายกำลังด้วย 2N3866 ในวงจรนี้กำลังส่งไม่ถึง 0.5 วัตต์