วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ความเห็นหลังจากประกอบเครื่องรับวิทยุ 144 MHz เสร็จ

สวัสดีครับ เพื่อนสมาชิกที่ติดตามอ่านเว็บบล็อกของผม เว็บบล็อกของผมเริ่มต้นเขียนตั้งแต่ปี 2008 ด้วยแนวคิดอยากลองเขียนอะไรเล่น ๆ มาถึงตอนนี้ 4 ปีแล้วมีจำนวนผู้อ่านหรือไม่ก็เปิดมาเจอมากพอสมควร






ในช่วงปี 2008 นั้นผมจะเน้นไปทางการออกอากาศ การแข่งขัน และพยายามฝึกรหัสมอร์ส ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนนี้ก็เร็วสมใจแล้ว และได้ออกอากาศ ได้แข่งขัน ได้รางวัลมาบ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ดี ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยตื่นเต้นกับการออกอากาศเท่าไร ติดต่อได้ก็ดี ติดต่อไม่ได้ก็เฉย ๆ ผมเลยกลับไปมองพื้นฐานเดิมของผม คือสนใจวิทยุสมัครเล่นก็เพราะมีอะไรให้ทดลอง โดยเฉพาะ เครื่องรับส่ง และอุปกรณ์ สำหรับตอนนี้ก็หันมาทดลองวงจรต่าง ๆ เกี่ยวกับวิทยุรับส่งที่พอทำได้ หลังจากประกอบมาหลายวงจรก็พบความจริงอย่างยิ่งว่า เครื่องที่เราทำเองราคาหลักร้อย ให้ความรู้มากกว่าเครื่องที่ซื้อมาหลักหมื่นหลักแสน พวกวงจรต่าง ๆ ถึงเรียนมาก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจ เหมือนนั่งทดลอง นั่งลองผิดลองถูก บางโครงงานอาจจะใช้เวลานาน บางโครงงานอาจจะไม่สำเร็จ

สำหรับโครงงานที่จะเอามาประกอบบทความนี้ก็คือ การประกอบเครื่องรับวิทยุ 144 MHz การทำเครื่องรับเป็นความฝันแรก ๆ ที่ผมอยากได้ตอนสอบผ่านนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น แต่ยังไม่มีเครื่อง อยากรับฟัง แต่ตอนนั้นไม่สามารถทำเครื่องรับแบบใช้ IC อย่างในรูปได้ ได้แค่ดัดแปลงวิทยุ FM ให้มารับย่าน 144 MHz รับได้ดีครับ แต่ความไวยังไม่มากพอ สามารถรับได้เฉพาะในพื้นที่อำเภอเดียวกันเท่านั้น แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้รับฝังนักวิทยุสมัยนั้นคุยกัน อย่างหนึ่งที่เจอแทบทุกครั้ง คือการคุยแบบสุภาพ นิ่มนวล น่าฟังถึงแม้จะไม่ได้คุยเรื่องที่มีสาระวิชาการอะไรก็ตาม แต่ตอนนี้ผมสามารถประกอบเครื่องรับแบบ IC ดังรูปตัวอย่างได้แล้ว ความตื่นเต้นในการประกอบวงจรยังมีอยู่ แต่ความสุภาพของเสียงในวิทยุนั้นหายไปแล้ว มีการพูดเล่น หรือพูดกันแบบคนสนิทกันจนเกินไป โดยไม่คิดเลยว่า จะมีใครฟังอยู่บ้าง

จริง ๆ แล้วผมไม่ฟัง 144 MHz หรือ 2 Meter นานแล้วละ พอทำเครื่องรับก็เลยต้องฟัง พอฟังแล้วก็ต้องคิดตามบ้างละครับ ผมเจอแนวคิดที่ไม่ค่อยจะถูกนักเกี่ยวกับนักวิทยุสมัครเล่น เช่น


  • แนวคิดที่ว่า การเป็นนักวิทยุสมัครเล่นที่ดี ต้องคุย หรือเปิดเครื่องเฝ้าฟังตลอด ใครเรียกมาจะได้ตอบ ได้คุยทันที อันนี้เป็นการใช้งานเครื่องวิทยุเฉย ๆ ไม่ใช่สาระอะไรของวิทยุสมัครเล่นอย่างที่ควรจะเป็น 
  • แนวคิดที่ชอบมองว่าเจ้าของสถานีวิทยุสมัครเล่นที่มีราคาแพง เป็นคนเก่ง เป็นคนมีความรู้ ทำให้ทุกคนอยากจะเอาอย่าง ได้แต่ซื้อกับซื้อ มันกลายเป็นธุรกิจไปหมด จริง ๆ แล้วสถานีใหญ่หรือเล็กไม่ใช่สำคัญอะไร มันอยู่ที่ว่า มีชิ้นไหนบ้างในสถานี ที่เราได้สร้างมันขึ้นมาเอง 
  • แนวคิดที่ว่า รีพิตเตอร์จะต้องมีคนใช้งานตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เงียบเหงา และเป็นการเตรียมความพร้อม จริง ๆ การพูดคุยแบบนี้ไม่ได้มีสาระอะไร ยิ่งพูดมากไป ยิ่งมีแต่น้ำ แซวกันไป แซวกันมา เดียวก็มีปัญหาทะเลาะกัน ไม่จบสิ้น
สิ่งที่น่าจะเป็น ในแต่ละจังหวัด มีนักวิทยุสมัครเล่นอยู่จำนวนมาก และผมคิดว่าทุกจังหวัดต้องมีนักวิทยุสมัครเล่นที่มีแนวคิดดี ๆ ในเรื่องการทดลอง ดังตัวอย่างการสร้างเครื่องรับ ให้ผู้ที่กำลังสนใจมาลองสร้างเครื่องรับ 144 MHz ส่วนคนที่เป็นนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นแล้วก็สร้างเครื่องรับวิทยุย่าน HF ต่อไป น่าจะมีการรวมกลุ่มกันทดลอง เขียนผลการทดลองเผยแพร่ตามเว็บไซต์บ้าง ก็คงเป็นการดี นักวิทยุสมัครเล่นรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาจะได้เอาเป็นแนวทางต่อไป พูดถึงเรื่องเว็บไซต์ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยุสมัครเล่นแล้วก็อดไม่ได้ครับ เว็บไซต์ของนักวิทยุที่เป็นกลุ่ม หรือสมาคม ก็จะมีแต่ข่าว มีแต่ภาพกิจกรรม ไม่มีสาระความรู้ที่เป็นเรื่องเป็นราว ถ้ามีก็มักจะคัดลอกมาจากเว็บอื่น ตอนคัดลอกมาก็ไม่ได้ตรวจสอบหรอกว่าข้อมูลถูกต้องหรือเปล่า แต่ด้วยความเป็นกลุ่ม เป็นสมาคม นักวิทยุสมัครเล่นจึงให้ความเชื่อถือ คราวนี้ละครับ มั่วไปหมดทั้งวงการ ผมก็เขียนได้เท่านี้ละครับ ขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่อ่านจนจบ 

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดีครับ ผมเพิ่งขอสัญญาณเรียกขานเมื่อปลายเดือนที่แล้ว หลังจากสอบผ่านมา14ปี ปัญหาหลักคือ ไม่มีความคิดที่จะซื้อเครื่องวิทยุสื่อสารเลย เห็นความเห็นเรื่องการประกอบเครื่องรับเองคิดว่าน่าสนใจและน่าจะเป็นแนวทางที่ดีได้ครับ

วรวุฒิ ศรีทอง กล่าวว่า...

ขอบคุณครับที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น