วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงการสำรวจความคิดเห็นนักวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่

โครงการสำรวจความคิดเห็นนักวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่จังหวัดกระบี่และไกล้เคียง ทั้งนักวิทยุสมัครเล่นรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ โดยจะนำเสนอข้อมูลตามความรู้สึกของเพื่อนสมาชิก ไม่มีการดัดแปลงหรือแก้ใขให้ดูดี หัวข้อในการสอบถามเพื่อนสมาชิกจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามสภาพการสนธนา และระยะเวลาที่เพื่อนสมาชิกมีให้ครับ ...

วันที่ 21-02-2553 เวลา 16.22 (TST) E22DSI อ.เมือง จ.กระบี่

E22DSI ได้กล่าวว่า ลักษณะการพูดคุย แนวคิด หลักการปฏิบัติ หลาย ๆ อย่างเป็นแนวทางที่สืบทอดมาจากนักวิทยุสมัครเล่นรุ่นพี่ ๆ และปัจจุบันนักวิทยุสมัครเล่นรุ่นพี่ หายไปเป็นจำนวนมาก มีนักวิทยุรุ่นใหม่เข้ามาเร็วเกินไป ยากต่อการควบคุม หลายท่าน เข้ามาโดยมีจุดประสงค์ในการใช้วิทยุสมัครเล่น แทนโทรศัพท์ หรือใช้ติดต่อธุรกิจ มีการใช้ความถี่ผิด Band Plan กันมากพอสมควร มีหลายท่านที่คิดว่าถ้าเป็นนักวิทยุสมัครเล่นที่เก่งกาจ ต้องเก่ง Q – Code ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ สำหรับตัวท่าน E22DSI นั้นรับข่าวสารจากทาง หนังสือ 100 วัตต์ และ ค้นหาข้อมูลทาง Internet เมื่อมีเวลาว่างจากหน้าที่การงานครับ และในอนาคตอันใกล้นี้ถ้ามีการเปิดสอบพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง E22DSI ตั้งใจว่าจะไปสอบด้วย ไม่สนใจว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน แต่สนใจในตัวความรู้ที่จะได้รับระหว่างการเตรียมตัวสอบ สุดท้าย E22DSI ได้ให้คะแนนรวมต่อวงการวิทยุสมัครเล่นทางภาคใต้ไว้ 49.9 %

วันที่ 03-03-2553 เวลา 22.00 (TST) E29PGZ อ.เคียนซา สุราษฎร์ธานี

E29PGZ หรือ นาย วีระ เกิดเกลี้ยง นักวิทยุรุ่นใหม่ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้กล่าวว่าได้รู้จักวงการวิทยุสมัครเล่นมาจากรุ่นพี่ ๆ ในหน่วยกู้ภัย และมีอยู่ครั้งหนึ่ง ได้เจอเพื่อนสมาชิกประสบอุบัติเหตุ แต่ไม่มีกู้ภัยมาช่วย จุดนี้เองทำให้มีความสนใจ เข้ามาเป็นอาสาสมัครและสอบเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น ทาง E29PGZ ก็ยอมรับว่าลักษณะการพูดคุย วัฒนธรรมต่าง ๆ ได้รับผมจากรุ่นพี่มากพอสมควร รุ่นพี่เขาคุยกันยังไง รุ่นน้องก็คุยตาม ไม่อยากจะทำตัวให้แหวกแนว (น้องใหม่) เมื่อมีการสอบถามเรื่องการไปสอบพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง ทาง E29PGZ ก็บอกว่าสนใจ ที่พอถามว่า ท่านรู้หรือเปล่าว่าไปสอบขั้นกลางแล้วท่านจะได้อะไรเพิ่มขึ้น? เขาก็ยอมรับว่า ไม่รู้ว่ามันดีกว่าขั้นต้นยังไง สอบถามจากสมาชิกรุ่นพี่ในบริเวณไกล้เคียง ต่างก็ให้คำตอบที่ไม่ชัดเจน บางท่านบอกว่า สอบไปก็เคาะรหัสมอร์สอย่างเดียว บางท่านก็ว่า ต้องเป็นข้าราชการเท่านั้นถึงจะสอบได้ E29PGZ เลยไม่มีความมั่นใจ และไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เรื่องการเข้าถึงข้อมูลในวง การวิทยุสมัครเล่น E29PGZ กล่าวว่า ได้จากการอ่านจากนิตยสาร 100 วัตต์ ส่วนการใช้ Internet นั้นจะเข้าไปใช้บริการที่ร้าน หลาย ๆ วันถึงจะไปใช้สักครั้ง E29PGZ ถึงแม้จะเข้ามาในวงการได้ไม่นาน จากการสอบถาม ตอนนี้เริ่มท่องจำรหัสมอร์สได้บ้างแล้วโดยอ่านจากนิตยสาร 100 วัตต์ ...เนื่องจากเวลาค่อนข้างจะดึกแล้ว ผมเลยยุติการสอบถามเพื่อนสมาชิกครับ ...

** สำหรับผม HS8JYX มองว่า ถ้าสมาชิกได้รับรู้ข้อมูลอย่างทั่วถึง ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการ Contest รายการต่าง ๆ และการไปสอบพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง จะมีนักวิทยุจำนวนมากสนใจ นักวิทยุสมัครเล่นรุ่นพี่ควรจะบอกเล่าถึงวัตถุประสงค์ของวงการวิทยุสมัครเล่นให้รุ่นน้อง ๆ ทราบ อย่างถูกต้องและชัดเจน ไม่ใช่ นำแบบอย่างที่ไม่ถูกต้อง ไปบอกกล่าว จนเกิดความผิดพลาดต่อ ๆ ไปไม่รู้จบ **


บทความโดย HS8JNF

18-3-53 เวลา 22:50 (TST) ที่ช่องความถี่ 144.2125 MHz.
ผม (HS8JNF)ได้พบปะพูดคุยกับ E29IJX สมาชิกนักวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่ อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เล่าให้ฟังว่าก่อนเข้าสู่กิจการวิทยุสมัครเล่น มีความเข้าใจว่าการใช้วิทยุสื่อสารนั้น สามารถใช้ได้เฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการ เช่น ตำรวจ หรือทหารเท่านั้น โดยบุคคลทั่วไปไม่สามารถใช้ได้ เมื่อสอบถามถึงการเข้ามาสู่กิจการวิทยุสมัครเล่น ทาง E29IJX ก็เล่าต่อไปว่าได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการใช้วิทยุสื่อสารจากสมาชิกใน พื้นที่ ว่ามีระบบวิทยุสื่อสารสำหรับประชาชน ที่บุคคลโดยทั่วไปสามารถจัดหามาใช้ได้ ในตอนแรก E29IJX ก็มีความเข้าใจว่าวิทยุสื่อสารสำหรับประชาชน นั้นรวมถึง การใช้วิทยุสื่อสารในกิจการวิทยุสมัครเล่นด้วย ซึ่งจากการสอบถามข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับวิทยุสื่อสาร E29IJX ก็พบว่าในความเป็นจริงแล้ว วิทยุสื่อสารสำหรับประชาชน (Citizen Band) นั้น บุคคลโดยทั่วไปสามารถจัดหาเครื่องวิทยุสื่อสารมาใช้ได้เลย ซึ่งต่างจากการใช้วิทยุสื่อสารในกิจการวิทยุสมัครเล่น สำหรับการเข้าสู่กิจการวิทยุสมัครเล่นนั้น E29IJX เล่าต่อไปว่าได้รับคำแนะนำจาก HS8JRT จนนำไปสู่การเข้ารับการอบรมและสอบ และเข้าสู่กิจการวิทยุสมัครอย่างเต็มตัว เมื่อสอบถามถึงทิศทางและอนาคตในกิจการวิทยุสมัครเล่น E29IJX มองว่า ณ ปัจจุบันนี้ นักวิทยุสมัครเล่นทุกคนต่างก็มีสปีริตพอ น่าจะมีแนวโน้มไปในแนวทางที่ดี เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกหลังจากเข้าสู่กิจการวิทยุสมัครเล่นแล้ว E29IJX ก็บอกว่ามีความแตกต่างกันมากเมื่อก่อนมีความคิดอีกอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเข้าสู่กิจการวิทยุสมัครเล่นแล้วได้มีการพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ กับเพื่อนสมาชิก แล้วทำให้มีความคิดไปอีกแบบหนึ่ง E29IJX มองว่าการเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นนั้นมีเกียรติ และศักดิ์ศรี สำหรับการติดตามรับข้อมูลข่าวสารในกิจการวิทยุสมัครเล่น E29IJX ได้รับทราบข้อมูลต่าง ๆ จากการใช้ความถี่ หรือรับฟังข่าวสารจากเพื่อนสมาชิกในช่องความถี่ ต่าง ๆ และทางสื่ออินเตอร์เน็ต
จากการที่ผู้เขียนก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ E29IJX กันเป็นเวลาพอสมควร ก็ทำให้มองได้ถึงการให้ข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ ต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจการวิทยุสื่อสารในสภาพปัจจุบันเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับผู้ที่ สนใจในกิจการวิทยุสมัครเล่น / HS8JNF (www.hs8jnf.ob.tc)

วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

รหัสมอร์สนุกแค่ใหน ลองฟํงดู เสียงระหว่างการแข่งขัน ARRL International DX Contest, CW 2010



ระหว่างการแข่งขันในรูปแบบ CW หรือรหัสมอร์ส จะได้ยินเพื่อนสมาชิกจำนวนมากมาใช้ความถี่ร่วมกัน ถ้าฟังผ่าน ๆ อาจจะรู้สึกสับสน แต่ถ้าฟังออก อาจจะรู้สึกเหมือนกำลังแข่งรถด้วยความเร็ว มีรถหลายคันวิ่งไล่ตามเรามา ลองฟังดูนะครับ

ผมกลับมาเปิดวิทยุสมัครเล่นย่าน 2 มิเตอร์ในบ้านเรา ก็ยังคุยกันเหมือนเดิม เล่นกันไปวัน ๆ หลายคนไม่เคยติดตามข่าวสารอะไรในวงการเลย

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ทดลองสายอากาศแบบง่าย ๆ ด้วยหลอดไฟขนาดเล็ก

โครงงานชุดนี้ ไม่ใช่โครงงานใหม่อะไรหรอกนะครับ นักวิทยุสมัครเล่นรุ่นเก่า ๆ เขาทดลองกันมานานแล้ว แต่วันนี้ผมอยากนำมาทดลองซ้ำอีกรอบ ให้สมาชิกใหม่ ๆ ได้ร่วมทดลองไปด้วย โดยเน้นการหาวัสดุที่มีอยู่ หรือของที่หาได้ง่าย ๆ ราคาถูก วิทยุรับส่งของเราเปลี่ยนสัญญาณ RF ที่รับได้เป็นสัญญาณเสียงให้เราได้ยิน (กว่าจะออกมาเป็นเสียงต้องผ่านวงจรมากมาย) แต่หลอดไฟที่เรากำลังจะประกอบขึ้นนี้จะเปลี่ยนสัญญาณ RF ให้เป็นความสว่างของแสง หลักการตรงไปตรงมา ถ้าสัญญาณ RF แรงมากแสงสว่างก็มาก และนอกจากนี้ถ้าเราต้องการวัดค่าแบบละเอียดไปอีกระดับเราสามารถนำมิเตอร์ขนาดเล็กมาแสดงผล แทนหลอดไฟได้ด้วย (ต้องเพิ่มวงจรเข้าไปอีกนิดหน่อย)



ข้อดีข้อเสียของการวัดด้วยหลอดไฟ
ข้อดี สร้างได้ง่าย ราคาถูก
ข้อเสีย ความไวไม่มาก วัดความแรงในระยะไกล ไม่ได้ ถ้าต้องการวัดแบบไกล ๆ 10-15 เมตร ให้ลองใช้วงจรนี้ http://hs8jyx.blogspot.com/2013/08/rf-field-strength-meter.html



อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทดลอง
หลอดไฟขนาดเล็ก สามารถหาได้จากของเล่นเด็ก
สายไฟอ่อนหรือลวดทองแดง ขนาด 1-2 ฟุต 2 เส้น
ท่อ PVC, ไม้ หรือฉนวนอะไรก็ได้ ยาวพอประมาณ



การประกอบก็ง่ายมากครับ ต่อสายไฟ/ลวดทองแดง เข้ากับปลายทั้งสองข้างของหลอดไฟ จากนั้น หาวิธียึดสายเข้ากับท่อ PVC เพื่อความเข็งแรง และสะดวกเวลาใช้งานครับ


วิธีการทดลองและหลักการทดงานของเครื่องมือตัวนี้

เครื่องมือชิ้นนี้ เป็นเครื่องมือตระกูลเดียวกับ Rf Sniffer การทำงานคร่าว ๆ  คือจุดไหนมีการเหนียวนำวิทยุมาก หลอดไฟจะสว่างมาก จุดไหนมีการเหนียวนำน้อย หลอดไฟก็จะสว่างน้อย อย่าเพิ่งดูถูกว่าการทำงานง่าย ๆ แบบนี้แล้วจะไม่มีประโยชน์นะครับ


ตัวอย่างการทดลอง วางสายอากาศแนวเดียวกันถึงจะรับสัญญาณได้ดีที่สุด จริงหรือ ??
หลายท่านคงเคยอ่านจากตำราหรือฟังจากเพื่อนว่า สายอากาศต้องวางในแนวเดียวกันถึงจะรับได้ดีที่สุด เรามาทดลองดีกว่าว่ามันจริงแท้แค่ไหน ตัวอย่างทดลองโดยใช้สายอากาศรอบตัวติดรถยนต์ขนาดเล็ก นำเครื่องมือที่เราประกอบขึ้นมาวางใกล้ ๆ สายอากาศ จากนั้นทดลองส่ง (ใช้กำลังส่งต่ำ ๆ ไม่เกิน 5 วัตต์ ก็พอแล้วครับ)



ทดลอง วางสายอากาศรถยนต์ในแนวดิ่ง และวางสายอากาศรับของเราในแนวดิ่งด้วย สังเกตว่า หลอดไฟจะสว่างจ้า (อย่าวางใกล้เกินไปหรือใช้กำลังส่งสูงมากนะ เดี่ยวหลอดไฟจะขาด รวมทั้งสัญญาณที่ส่งออกมาจะไปรบกวนสถานีอื่น ๆ ด้วย)



อ่านต่อ www.hs8jyx.com

วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Thailand Field Day Contest 2010 ของ HS8JYX

Thailand Field Day Contest 2010 ของ HS8JYX

การแข่งขันในปีนี้ ผมเลือกลงแข่งขันแบบ Class E : Single Operator, QRO Home Station



สายอากาศที่เลือกใช้เป็น สายอากาศรอบตัว 1 ต้นและสายอากาศ Yagi 13e 1 ต้น ส่วนเครื่องส่งเป็น Icom IC-2200-T



บรรยากาศภายในบ้าน

การแข่งขันครั้งนี้ สามารถติดต่อได้ 96 QSOs (หักสมาชิกที่ซ้ำ ๆ ออกหมดแล้วนะ) ซึ่งมาจาก 8 จังหวัดภาคใต้ ไกลสุดก็คงเป็นทีมจากจังหวัดปัตตานี E29AN สมาชิกที่มากก็เป็นสมาชิกในพื้นที่ของกระบี่เอง





http://www.hs8jyx.com

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การแข่งขัน CQ160 CW ปี 2010 และสายอากาศ Inverted L ของ HS8JYX

รายการแข่งขันที่ผมสนใจอีกรายการก็คือ CQ160 meter CW ในปี 2010 นี้จัดขึ้นในวันที่ 29 (2200 UTC)-31 มกราคม 2531 หรือพูดกันง่าย ๆ เขาจะจัดทุกสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มกราคม ของทุกปี โดยให้นักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลกติดต่อกันให้ได้มากที่สุด สำหรับย่านความถี่ 1.8 MHz ผมเลือกใช้สายอากาศ Inverted L วัสดุที่ใช้ทำก็ใช้สายไฟที่ใช้เดินตามอาคาร ขนาด 1.5 mm. และ คาปาซิเตอร์ทนแรงดันสูงเก่า ๆ จากทีวี

ผมเดินทางมาถึงจุดที่จะตั้งสถานีในวันศุกร์ ใช้ไม้ไผ่ 2 ต้นเป็นเสาแทนที่จะใช้เสาโลหะ

ใช้ไม้ไผ่ 2 ต้นเป็นเสาแทนที่จะใช้เสาโลหะ

จุด ป้อนสัญญาณ ผมได้จัดทำไว้แล้ว โดยใช้ VC เป็นตัวปรับค่า SWR ใช้ Ground Rod 1 แท่งยาว 6 ฟุต ผมตอกลงไปประมาณ 5 ฟุต อีก 1 ฟุตไว้ต่อสาย และเพื่อความสะดวกเวลาเก็บอุปกรณ์ ใช้ Ground Radial 3 เส้น ตามสูตร สายที่ใช้ไปแล้วคือ 100 เมตร (1 ม้วน) โดยประมาณ

สายอากาศ inverted L

จาก การทดลอง ผมรับวิทยุกระจายเสียง AM ได้ดีมาก อย่างไม่เคยรับได้แบบนี้มาก่อน (ในเวลากลางวัน) ผมทดลองถอดสายอากาศ Inverted L ออก แล้วรับด้วยสายไฟธรรมดาดู ปรากฏว่า รับได้ไม่ดี สัญญาณรบกวนมาก หลังจากนั้นผมก็ทดลองส่งสัญญาณ ปรากฏว่าค่า SWR สูงกว่า 3:1 ลองปรับ VC แล้ว ปรับได้นิดหน่อย ผมสังเกตว่า พอปรับ VC ให้มีค่ามากสุด SWR จะตำลง แสดงว่า ค่า C ต้องน้อยไปแน่ ๆ (ผมคิดเอาเอง) จากนั้นก็ไปหยิบ C ที่พามาด้วยมาลองต่อขนานดู ทดลองเปลี่ยนดูหลาย ๆ ค่าได้ผลครับ ค่า SWR ลดลงมากจนถือว่า สามารถออกอากาศได้เลย

สายอากาศ inverted L

C ที่ใช้ต้องเป็น C ที่ทนแรงดันสูง ๆ หน่อยนะครับ อย่างน้อยๆก็ 1.5KV ขึ้นไป ผมนำ C 2 ตัวมาขนานกัน เพื่อให้ได้ค่าที่ใกล้เคียงตามที่ต้องการ และผมได้นำ C อีกตัวมาลองขนานเข้าไปอีก ปรากฏว่า ไม่มีผล SWR ไม่ลดแล้ว น่าจะมากไปแล้ว ผมก็เลยเอาออก

สายอากาศ inverted L

ผมได้ความสูงของไม้ไผ่ประมาณ 6-7 เมตรเองครับ ตามสูตรที่เขาคำนวณไว้ควรจะสูง 12.5 เมตร

สายอากาศ inverted L

ปลาย อีกด้าน ไม่ได้ต่อกับไม้ไผ่โดยตรง ผมจะใช้เชือกฟางมีเป็นฉนวนอีกที ที่ไม่ต่อตรง ๆ เพราะไม้ไผ่ยังสดอยู่ มันจะมีความชื้นอาจจะให้ค่า SWR สูง (ไม่อยากเสียเวลาและแรงงาน ยกไม้ไผ่ขึ้นลงหลายรอบก็ควรใช้ฉนวน)

ในคืนวันศุกร์ ก่อนการแข่งขัน ผมเปิดเครื่องลองหาเพื่อนสมาชิกที่ CQ ในโหมด CW แต่ก็ไม่เจอ (คงนอนหลับเอาแรงก่อนการแข่งขัน) เลยมารับฟังวิทยุ AM รอไปพลาง ๆ สัญญาณวิทยุที่รับได้นั้นแรงมาก ๆ เรียกได้ว่าแค่หมุนไปนิดเดียวก็เจอ เพลงและดีเจ ล้วนจะออกแนว ๆ โบราณ โฆษณาบางตัวผมไม่นึกว่าจะยังมีอยู่ (ฟังมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว) สัญญาณวิทยุ AM ถ้าไม่ใช่นักวิทยุสมัครเล่นคงไม่มีใครชอบรับฟังสักเท่าไร เสียงไม่สดใส เดียวแรง เดียวขาดหาย บ้างก็โดนรบกวน จากสถานีใกล้เคียง หรือ จากธรรมชาติ ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า ก็โดนหมด แต่ถ้าเป็นนักวิทยุสมัครเล่นแล้วนี่คือมนต์ขลังแห่งวงการอย่างหนึ่งก็ว่าได้ ครับ

ถึงเวลาเริ่มการแข่งขัน เวลาตี 5 ของประเทศไทย ผมรับได้หลายสถานี เป็นที่น่าพอใจ ผมรู้สึกว่าความถี่ที่เขาให้มามันน้อยนะคนเล่นกันแน่นเอี๊ยด ! จะติดต่อได้มากได้น้อยก็อยู่ที่ประสบการณ์ของ Operator แล้วละครับ ผมเล่นไปสักพักก็สว่าง สัญญาณไกล ๆ เริ่มจางหาย จนสายขึ้นมาอีกนิด สัญญาณทุกสัญญาณหายไปหมดเลย มีแต่เสียงรบกวนจากธรรมชาติแทน ผมเลยหยุดเล่น เอาเวลาว่างไปเพิ่มสาย Ground Radial อีก 3 เส้น รวมเป็น 6 เส้น รู้สึกว่าค่า SWR จะสูงขึ้น ผมไปอ่านมาจากหนังสือ Low Band DX เขาบอกให้ทดลองเปลี่ยนความสูง ของปลาย Ground Radial ยกขึ้นสักนิดหน่อยจากพื้นดินจะช่วยในการปรับ SWR ได้ ผมทดลองตามนั้นก็ได้ผล SWR กลับมาไม่เกิน 1.5:1 ตามเดิม (โดยไม่ตัดสายให้สั้นลง)

ข้อมูลที่น่าสนใจ

  • Ground Rod นั้นมีผลดีในแง่ของ dc ground ลดอันตรายจากฟ้าผ่า ไม่ค่อยมีผล หรือมีผลน้อยมาก กับ RF ground ผมเลยลดความสนใจเรื่องนี้ลง (ตอนแรกจะเอา Ground Rod มาหลาย ๆ แท่ง)
  • ผมมี Ground Rod แบบสั้น 2 แท่ง (ยาวประมาณ 1 ฟุต) ทดลองมาปักไว้ไกล้ ๆ กับ Ground Rod แท่งเดิมปรากฏว่าค่า SWR สูงขึ้นผิดปกติจนเครื่องลดกำลังส่งเองโดยอัตโนมัติ ผมทดลองอยู่หลายรอบ ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
  • ขนาดของ Ground Radial ในกรณีที่ Ground Radial มีน้อยว่า 6 เส้น ขนาดของ Ground Radial จะมีผลควรจะใช้ลวดเบอร์ 16 ขึ้นไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่ถ้าจำนวน Ground Radial มีมาก ขนานของ Ground Radial จะมีผลน้อยลง เราสามารถใช้ลวดที่เล็กลงได้
  • สายอากาศแบบ Inverted L เป็นสายอากาศแบบ Vertical การทำงานเหมือนสายอากาศ Quarter wave แต่พับส่วนปลายของสายลงมา ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรจะส่วนที่เป็นแนวดิ่งสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ความยาวรวมของส่วนที่เป็นตัว L ก็จะประมาณ 1/4 Lambda
  • กลาง วัน ความถี่ 1.8 MHz ติดต่อได้เฉพาะพื้นที่ใกล้ ๆ เมื่อดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมา ชั้นบรรยากาศที่ชื่อว่า D layer จะถูกสร้างขึ้น การ ionization จะสูงสุดตอนบ่าย (หลังเที่ยงวันไปเล็กน้อย) ชั้นนี้จะดูดกลื่นความถี่ช่วงนี้เป็นอันมาก หลังจากดวงอาทิตย์ตก ชั้น D layer จะค่อย ๆ จางหายไป การติดต่อย่าน 1.8 MHz ก็เริ่มขึ้น

หนังสือ Low - Band DXing หนังสือที่น่าอ่านสำหรับผู้ที่สนใจความถี่ต่ำ ๆ

หนังสือ Low - Band DXing หนังสือที่น่าอ่านสำหรับผู้ที่สนใจความถี่ต่ำ ๆ เนื้อหาเป็นวิชาการมากเลยครับ

แถมด้วยบรรยากาศ ทุ่งนา ทะเล อ.หัวไทร

http://www.hs8jyx.com/html/cq160_2010.html

วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2553

HS8JYX/R Thailand Field Day 2009 Award

HS8JYX/R Thailand Field Day 2009 Award



รางวัลจากการแข่งขันวิทยุสมัครเล่นภาคสนาม เน้นการออกอากาศในสภาวะฉุกเฉิน ใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด



HS8XCE, HS8JYX บนยอดเขารามโรม

วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

N1MM Free Contest Logger ตอน ตัวช่วยที่ดีอย่าง Check

N1MM Free Contest Logger ตอน ตัวช่วยที่ดีอย่าง Check
เราสามารถเปิดตัวช่วยอย่าง Check ได้โดย ไปที่ Window - Check




Check จะแสดงรายชื่อทั้งหมดที่อยู่ใน MASTER.DTA โดยจะแสดงให้สอดคล้องกับ Callsign ที่เราพิมพ์ลงไปเช่น



เราพิมพ์ HS8 เข้าไป ตัว Check จะแสดงรายชื่อ ที่ประกอบด้วย HS8 มาให้เราเห็น
ไฟล์ MASTER.DTA ของเราต้องแน่ใจว่ายังใหม่ ถ้าไม่แน่ใจให้ไปโหลดไฟล์มาแทนตัวเก่าในเว็บ http://www.supercheckpartial.com/ เพื่อจะได้มีข้อมูล รายชื่อเพื่อนสมาชิกใหม่ ๆ


หน้าต่าง Check ตอนเปิดขึ้นมาใหม่จะเจอข้อมูล วันเดือนปี,ขนาดของไฟล์



ในกรณีที่เราพิมพ์ Callsign ที่ไม่มีในฐานข้อมูล หน้าต่าง Check จะโชว์ข้อความว่า Unique ซึ่งในบางครั้ง เราอาจจะต้องตรวจสอบ ว่าเราพิมพ์ Callsign ถูกหรือเปล่า (โดยเฉพาะรหัสมอร์ส ให้ฟังอีกรอบจนแน่ใจ) ถ้าแน่ใจว่าถูกต้อง ก็สามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปได้



ในกรณีที่ซ้ำกับ Callsign ที่เคยติดต่อแล้ว หน้าต่าง Check จะโชว์ว่า
Dupe! ซึ่งจะไม่ได้คะแนน ให้แจ้งคู่สถานีของเราไป


นอกจากนี้ยังมีลูกเล่นย่อย ๆ อีกอย่าง ลองคลิกขวาที่หน้าต่าง Check ดูนะครับ

N1MM Free Contest Logger ตอน การเปลี่ยน Mode/Freq

N1MM Free Contest Logger ตอน การเปลี่ยน Mode/Frequency แบบง่าย ๆ

- การเปลี่ยนโหมด สามารถเปลี่ยนที่วิทยุกรณีที่วิทยุต่อกับคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าไม่ต่อ สามารถเปลี่ยนได้โดยการพิมพ์โหมดที่ต้องการลงไปคือ CW, LSB, USB, RTTY, AM, FM, PSK หรือ SSTV




- การเปลี่ยนความถี่ สามารถทำได้หลายแบบ อย่างง่าย ๆ ที่สุดคือ พิมพ์ความถี่ที่จะเปลี่ยนลงไปแล้วกด Enter อาจจะพิมแบบสั้น ๆ ก็ได้เช่น เดิมอยู่ที่ความถี่ 14000 KHz ถ้าเราจะเปลี่ยนเป็น 14005 KHz เราก็พิมพ์แค่ 5 แล้วกด Enter โปรแกรมจะเปลี่ยนไปยัง 14005 KHz ทันที (ไม่ต้องพิมพ์ยาว 14005)



- การเปลี่ยน Band ทำได้ง่าย ๆ คือ พิมความถี่ที่ต้องการเป็น KHz หรือไม่ก็ กด Ctrl + Page Up หรือ Page Down เพื่อเลื่อน Band ขึ้น/ลง (WARC bands จะถูกข้ามไป)


- การเปลี่ยนความเร็ว ในการส่งรหัสมอร์ส กรณีที่ใช้โปรแกรมส่งรหัสมอร์ส สามารถปรับได้ ที่รูป 3 เหลี่ยมไกล้ ๆ กับตัวเลข (ดังรูป) วิธีที่สองคือ ปรับที่ปุ่ม Page Up/Page Down ที่คีย์บอร์ด สุดท้ายสามารถพิมพ์ระดับความเร็วไปโดยตรงก็ได้ ครับ

N1MM Free Contest Logger ตอน สีและความหมาย

N1MM Free Contest Logger ตอน สีของตัวอักษรและความหมาย

นี่คือข้อดีอย่างหนึ่งของโปรแกรม จะแสดงสีแทนจำนวนคะแนนหรือตัวคูณ เพื่อให้ผู้ใช้งานสังเกตได้ทันที



สีน้ำเงิน หมายถึง การ QSO ปกติไม่มีตัวคูณ
สีแดง หมายถึง ได้ตัวคูณ 1 (Single Multiplier)
สีเขียว หมายถึง ได้ตัวคูณสองหรือมากกว่า (Double or better Multiplier)
สีเทา หมายถึง การ QSO ซ้ำกับข้อมูลก่อนหน้า

N1MM Free Contest Logger ตอน การติดตั้งโปรแกรม

N1MM Free Contest Logger

โปรแกรมสำหรับนักแข่งขัน เป็นโปรแกรมฟรีที่น่าสนใจมากตัวหนึ่ง มีการ Update โปรแกรมให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา โปรแกรมนี้สามารถติดตั้งบน คอมพิวเตอร์ตัวเก่า ๆ ได้ แนะนำไว้ที่ Pentium II/III 500-800 MHz ขึ้นไป ซึ่งคอมพิวเตอร์ในปัจุบันก็เร็วกว่านี้มากมายครับ

ก่อนอื่น เข้าไป Download ตัวโปรแกรมมาติดตั้งกันที่ http://pages.cthome.net/n1mm/



การติดตั้งจะมี 2 ไฟล์ให้โหลด
ไฟล์แรกจะเป็น N1MM Logger Base Installอันนี้ต้องติดตั้งลงไปก่อน จากนั้นก็ติดตั้งตัว Latest Versions ตามไป

เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วให้ลองเปิดโปรแกรมขึ้นมา แล้วตั้งค่าข้อมูลสถานีของเราก่อน โดยเข้าไปที่ Config



กรอกข้อมูลส่วนตัวของเราลงไป



ก่อนการแข่งขันเราควรจะสร้างฐานข้อมูลขึ้นมาใหม่ โดยเข้าไปที่ File ..New Database ..



โปรแกรมนี้จะใช้ฐานข้อมูลแบบ Access 2000



เมื่อสร้างฐานข้อมูลเสร็จ ให้ไปเลือก ประเภทของการแข่งขัน โดยไปที่ File - New Log in Database ตามรูป



เลือกรายการแข่งขัน, วันเวลา, ประเภท ตามความต้องการของเรา แต่อย่างไรก็ต้องคำนึงถึงกฏ กติกาของการแข่งขันประเภทนั้น ๆ ด้วย เพราะตัวโปรแกรมจะออกแบบเมนูรวม ๆ มา (เพื่อให้เข้ากับการแข่งขันทุกรายการที่รองรับ) การแข่งขันบางรายการอาจจะมีประเภทของการแข่งขันน้อยกว่า ที่ตัวโปรแกรมกำหนดมา